เรื่องที่อบรม “เพิ่มความรู้การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พร้อมกับการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างการแต่งตั้งคณะกรรมการพัสดุ ปัญหาการเบิกจ่ายค่าตอบแทนและคณะกรรมการพัสดุ การจัดทำขอบเขตงานการกำหนดราคากลาง และแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่อง

ด้านการจัดการความรู้

            1.  การทำงานด้านพัสดุไม่ควรใช้ความรู้สึกในการทำงาน ต้องปฏิบัติและยึดหลักระเบียบเป็นหลัก

            2. การจัดซื้อจัดจ้าง ห้ามมิให้ทำการส่งของ หรือทำงานจ้างก่อน โดยที่ยังไม่มีการอนุมัติ ไม่มีวงเงินประมาณที่ได้รับจัดสรร ไม่ว่ากรณีนั้นจะจำเป็นเร่งด่วนนานัปการ ซึ่งข้ออ้างดังกล่าวไม่อาจรับฟังได้ เพราะอาจมีผลเสียเกิดขึ้นตามมาภายหลัง

            3. การแต่งตั้งคณะกรรมการควรพิจารณาจากความชำนาญในด้านนั้นๆ เป็นสำคัญ

            4. การเขียนขอบเขตของงาน ต้องมีความชัดเจน ในด้าน ความเป็นมา วัตถุประสงค์ คุณสมบัติผู้เสนอราคา คุณลักษณะของงานที่จะซื้อหรือจ้าง วิธีซื้อจ้าง หลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอ วงเงินในการจัดหา ระยะเวลาส่งมอบ การรับประกัน ซึ่งงานพัสดุ ได้มีการจัดทำแบบฟอร์มไว้บนเว็บไซต์ของคณะแล้ว เพื่อสอดคล้องตามวัถุประสงค์ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

            5. การกำหนดราคากลางเพื่อใช้เป็นฐานหรืออ้างอิง สำหรับเปรียบเทียบราคา ให้พิจารณาตามลำดับของ พรบ.กำหนด และมีการเปิดเผยข้อมูลราคากลางผ่านเว็บไซต์ให้ทราบโดยทั่วกัน

 

 

วิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e-market)

          เป็นการจัดหาพัสดุสำหรับสินค้าและบริการที่มีมาตรฐาน มีข้อกำหนดคุณสมบัติไม่ซับซ้อน ไม่จำเป็นต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค เช่น กระดาษ อุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น

ขั้นตอนการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market)

          - ผู้ค้าลงทะเบียนและบันทึกข้อมูลสินค้าและบริการในระบบ e-Catalog โดยกรมบัญชีกลางเป็นผู้กำหนดสินค้าและบริการที่จะสามารถซื้อ/ขาย ในระบบ e-market ได้

          - ส่วนราชการที่มีความต้องการจัดซื้อจัดจ้างทำประกาศ โดยระบุคุณสมบัติของสินค้า จำนวนสินค้า คุณสมบัติของผู้ค้า เป็นต้น

          - ส่วนราชการประกาศจัดซื้อจัดจ้าง โดยระบบจะตรวจสอบความต้องการกับข้อมูลสินค้าของผู้ค้า และส่งประกาศผู้ค้าที่มีคุณสมบัติตามประกาศเท่านั้น

          - ประกาศเปิดเผยหน้าเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th

          - เมื่อพ้นระยะเวลาเสนอราคา ส่วนราชการสามารถตรวจสอบข้อมูลที่ผู้ค้าเสนอราคาทั้งหมด ระบบ e-GP จะทำการเลือกผู้ชนะการเสนอราคา

          - ส่วนราชการจัดทำประกาศผู้ชนะการเสนอราคา

ประโยชน์ของวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market)

          1. หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อสินค้าและบริการได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ มีคุณภาพ ภายใต้ราคาที่ยุติธรรม

          2. ลดขั้นตอนและระยะเวลาการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ

          3. เพิ่มความโปร่งใสและลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้าง

          4. ส่วนราชการสามารถดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

          5. ผู้ค้าภาครัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างได้สะดวกและเท่าเทียมกัน

          6. สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ

วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e-bidding)

          เป็นวิธีการซื้อหรือจ้างที่มีรายละเอียดคุณลักษณะซับซ้อน มีเทคนิคเฉพาะ เช่น งานก่อสร้าง การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์บางประเภท การจัดจ้างพัฒนาระบบสารสนเทศ (IT) ที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับแต่ละหน่วยงาน เป็นต้น

ขั้นตอนการดำเนินการ

          - ส่วนราชการจัดทำร่างประกาศและร่างเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบจัดทำรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จัดหาให้ตรงกับความต้องการของส่วนราชการ

          - ส่วนราชการจัดทำรายงานขอซื้อขอจ้าง ร่างประกาศและร่างเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ

          - กรณีที่ส่วนราชการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นต้องนำร่างประกาศและร่างเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ไปเผยแพร่ให้สาธารณชนเสนอแนะ วิจารณ์ สามารถกระทำได้โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าส่วนราชการ โดยให้ประกาศเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ

          - ให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุดำเนินการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางและทางเว็บไซต์ของส่วนราชการ ตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศ โดยต้องกระทำเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ

          - การรับ/ซื้อเอกสาร และการเสนอราคา ต้องผ่านระบบ e-GP

          - เมื่อครบกำหนดเสนอราคา ส่วนราชการและคณะกรรมการฯ ตรวจสอบและพิจารณาผลด้านคุณสมบัติและเทคนิคของผู้ค้า และประกาศผู้ชนะการเสนอราคา 

ประโยชน์ของวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)

          1. หน่วยงานภาครัฐ จัดซื้อสินค้าและบริการได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ มีคุณภาพ ภายใต้ราคาที่ยุติธรรม

          2. ลดปัญหาการสมยอมราคา เพิ่มความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างและลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

          3. ลดปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย จะเผชิญหน้าเมื่อเข้าทำสัญญาแล้วเท่านั้น

          4. ลดต้นทุนของผู้ค้าในการเข้าถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยผู้ค้าสามารถขอรับ/ซื้อเอกสาร และยื่นข้อเสนอได้ทางอิเล็กทรอนิกส์

          5. ผู้ค้าสามารถติดตามสถานะโครงการของตนเองได้ตลอดเวลา และยังทราบข้อมูลข่าวสารของโครงการอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทันเวลา