พิมพ์
หมวด: วิจัย/โครงการ

สรุปกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

“โครงการอบรมการเขียนบทความวิจัยและบทความวิชาการ”

โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อานันท์  กาญจนพันธุ์

วันศุกร์ที่  26  เดือนพฤษภาคม  พ.ศ. 2560  เวลา 09.00-12.00 น.

ณ ห้องดอกจาน 4  คณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

         

ถอดบทเรียนโดย  ผศ.ดร. ชาญชัย  คงเพียรธรรม

 

ประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเขียนบทความวิจัยและบทความวิชาการ

-          องค์ประกอบของบทความมีอะไรบ้าง

-          บทความวิจัยต่างจากบทความวิชาการอย่างไร

-          วิธีเขียนบทความวิจัย/ บทความวิชาการที่ดี เพื่อที่จะทำให้ได้ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

 

สภาพปัญหาของการเขียนบทความวิจัยและบทความวิชาการ

-          อาจารย์หลายท่านไม่เคยมีผลงานทางวิชาการ (บทความวิจัย/บทความวิชาการ) ตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อน  จึงไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นอย่างไร  (เขียนเรื่องอะไร  เขียนอย่างไร  และจะส่งไปลงตีพิมพ์ที่ไหน)

-          อาจารย์หลายท่านเคยลงตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ (บทความวิจัย / บทความวิชาการ) มาบ้างแล้ว  แต่ยังไม่พอใจกับผลงานของตนเท่าที่ควรนัก  จึงต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพทางด้านวิชาการของตนให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการศึกษาแบบอย่างจากนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับแถวหน้าของประเทศไทยว่า ท่านเหล่านั้นมีวิธีการอย่างไรในการผลิตผลงานวิชาการ (บทความวิจัย/บทความวิชาการ) ที่มีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้างทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

 

แนวปฏิบัติที่ดีของคณะศิลปศาสตร์  ในการเขียนบทความวิจัยและบทความวิชาการ

-          บทความวิจัยและบทความวิชาการที่ดีนั้นจะต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ คือ 1) วิธีคิดในการตั้งประเด็นปัญหาและกำหนดโจทย์วิจัยต้องชัดเจน (Problematization) ซึ่งส่วนนี้จะอยู่ในบทนำ  2) การนิยามบริบทในมิติต่างๆ ของปัญหาวิจัยต้องชัดเจน  (Contextualization) ซึ่งบริบทที่ว่านี้  ได้แก่  เวลา  สถานที่  รวมทั้งแนวคิดที่ปรากฏในยุคนั้น  3)  การจำลองและนิยามความเชื่อมโยงความคิด (Conceptualization) ต้องกล่าวถึงแนวคิด ทฤษฎีที่ใช้เป็นแกนของบทความ รวมถึงวิพากย์แนวคิด หรือทฤษฎีต่างๆ  4) การจำแนกแยกแยะหน่วยของการศึกษาวิเคราะห์ (Differentiation) และ 5) การปฏิบัติการปรับความคิดทางทฤษฎีและระดับนามธรรมของการวิเคราะห์ (Operationalization)  บทความชิ้นนั้นๆ จึงสมบูรณ์

-          บทความที่ดีจะต้องมีการวิเคราะห์  ตีความ  เปรียบเทียบ มีแนวคิด และมีการเชื่อมโยง

-          บทความวิชาการ  แท้จริงแล้ว คืองานวิจัยชิ้นย่อยๆ นั่นเอง  เพราะมีการค้นคว้าหาข้อมูล  การวิเคราะห์  สังเคราะห์ข้อมูล ไม่ต่างจากการทำวิจัย

-          นักวิชาการที่ดีจะต้องหมั่นเป็นคนช่างสังเกตและรู้จักตั้งคำถาม  เพราะการตั้งคำถามเป็นหัวใจของการทำงานวิชาการ  ไม่ว่าจะเป็นการทำวิจัย หรือการเขียนบทความ

-          ผู้เขียนบทความจะต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่าแนวคิด ทฤษฎีต่างๆ ที่นำมาใช้ช่วยให้ทำงานวิชาการได้ง่ายขึ้น  แต่แนวคิด ทฤษฎีไม่ใช่คำตอบของงานทางวิชาการ (ทฤษฎีเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และเหตุปัจจัยต่างๆ อยู่เสมอ)

-          ผู้เขียนบทความจะต้องเข้าใจความแตกต่างของพื้นที่  หรือบุคคลที่ต้องกล่าวถึง  ไม่ควรใช้วิธีการเหมารวม เช่น ถ้าจะกล่าวถึงชาวนาในพื้นที่ภาคอีสาน ควรระบุพื้นที่ให้ชัดเจน  เพราะชาวนาในภาคอีสานนั้นมีอยู่หลายกลุ่ม มีทั้งที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ และที่ล้มเหลวจนมีหนี้สินมากล้นพ้นตัว  มีทั้งที่ประยุกต์ใช้วิธีการเกษตรสมัยใหม่ และแบบที่ทำเกษตรแบบดั้งเดิมตามปู่ย่าตายาย เป็นต้น

-          การเขียนบทสรุป (Conclusion) ของบทความ  ไม่ใช่การลอกเนื้อหาจากบทความทั้งหมดมาเขียนไว้ในบทสรุป  แต่จะต้องสรุปให้ได้ว่า 1)  ข้อค้นพบใหม่คืออะไร  2)  ต้องนำข้อค้นพบนั้นไปสนับสนุนหรือโต้แย้งกับงานของนักวิชาการท่านอื่น และ 3)  ประเมินค่าว่าผลงานของเรามีคุณค่าในด้านใด  เช่น มีคุณค่าในทางทฤษฎี  หรือมีคุณค่าต่อสังคมอย่างไร

-          ขอให้พึงระลึกอยู่เสมอว่า  “อาจารย์ทุกคนมีความรู้  ความสามารถ มีศักยภาพด้วยกันทั้งนั้น  ขอเพียงแค่มีความกล้า  เอาชนะความกลัวที่อยู่ภายในใจ  การเขียนบทความวิจัยหรือบทความวิชาการนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย” 

 

การเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีของการเขียนบทความวิจัยและบทความวิชาการของคณะศิลปะศาสตร์

 

-          ลงแนวปฏิบัติที่ดีในเว็บไซต์งานวิจัย  คณะศิลปศาสตร์  เพื่อให้ผู้ที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าว สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อไปhttp://web.la.ubu.ac.th/gallery/activity.php?g=781